Gold Bullish
- ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
- ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน
- หนี้สหรัฐฯ ชนเพดานที่ระดับ 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคาร
- การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
Gold Bearish
- การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น
เฟดและมุมมองตลาดมีการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยที่สวนทางกัน
ทองคำพุ่งแรงอีกครั้งในรอบ 1 ปีทะลุบริเวณ 2,000 ดอลลาร์ ด้วยความกังวลของวิกฤตภาคธนาคารอาจยังไม่จบ แม้อาจจะคลี่คลายลงบ้างทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป แต่อาจเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่เฟดได้มีการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75%-5.00% ในการประชุมล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ FED Dot Plot เฟดยังคงยืนยันสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ที่ 5.1% แต่ย้ำว่าจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งสะท้อนต่อการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ปัจจัยดังกล่าวยิ่งทำให้หนุนแรงซื้อราคาทองคำเข้ามา เนื่องจากสะท้อนว่าเฟดใกล้หยุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น แต่สวนทางกับตลาดคาดว่าสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยของเฟดจะอยู่ที่ 4.00%-4.25% แสดงว่ามุมมองของตลาดยังคงคาดว่าเฟดจะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ รวมถึงตลาดมองว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป ขณะเดียวกันก็คาดว่าเฟดอาจจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้เช่นกัน ปัจจัยที่ทำให้ตลาดมีมุมมองเช่นนี้มาจากความกังวลของวิกฤตภาคธนาคารที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันข้างหน้า
ความกังวลวิกฤตภาคธนาคารอาจยังไม่จบ!!
ตอนนี้ตลาดเริ่มคลายความกังวลไปบ้างจากที่ฝั่งยุโรป ธนาคารยูบีเอส (UBS) ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ในวงเงิน 3 หมื่นล้านฟรังก์สวิสแต่การเข้าซื้อครั้งนี้เป็นการเข้าซื้อเพื่อช่วยเหลือไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงที่กว้างขึ้น จึงเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างเร็ว เพราะโดยปกติแล้วการเข้าซื้อกิจการมักจะต้องมีการทำ Due Diligence ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน
ส่วนทางด้านสหรัฐฯ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ พยายามเรียกความเชื่อมั่นให้ตลาดว่าเงินฝากชาวอเมริกันจะยังคงปลอดภัยในช่วงเวลาที่ภาคธนาคารสหรัฐฯ เผชิญภาวะปั่นป่วน แม้จะเริ่มคลี่คลายไปบ้าง แต่อาจเป็นเพียงชั่วคราว ผลกระทบที่ตามมาของการเกิดวิกฤตภาคธนาคารอาจจะยังไม่จบ ซึ่งก็มีข่าวมาว่าสหรัฐฯ กำลังจะตรวจสอบธนาคารเครดิต สวิส และธนาคารยูบีเอส ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้มีอำนาจรัสเซียในการหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรหรือไม่? ซึ่งเคยมีประวัติก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ธนาคารเครดิต สวิสเคยได้บริหารจัดการเงินกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับลูกค้ารัสเซีย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับธนาคารราว 500-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี คำถามคือ ถ้าตรวจสอบแล้วผลออกมาธนาคารเครดิต สวิส มีส่วนเกี่ยวข้อง สหรัฐฯ จะจัดการอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยประกาศว่าจะคว่ำบาตรต่อบุคคล หรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือกับรัสเซียในการสงคราม ซึ่งอาจจะยิ่งซ้ำรอยวิกฤตภาคธนาคารเข้าไปอีก นอกจากนี้อาจจะยังมีธนาคารอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับธนาคาร SVB SB ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ท่ามกลางเงินเฟ้อที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทั่วโลกยังคงต้องเผชิญอยู่ ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่กลางปี 2565 มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเริ่มพลิกขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้อาจทำให้เฟดไม่กล้าที่จะขึ้นดอกเบี้ยแรงเหมือนเช่นปี 2565 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับฝั่งธนาคารกลางยุโรปเช่นกัน ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเผชิญต่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น และทะลุเพดานไปแล้ว ซึ่งในเดือนก.พ.นั้นสหรัฐฯ ได้ขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 21% ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาหนึ่งของสหรัฐฯ ในการหาเงินมาจ่ายหนี้ และด้วยภาวะที่เงินเฟ้อมีความเป็นไปได้ที่จะกลับขึ้นไป และมีความเสี่ยงต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน จึงยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “Stagflation” มากขึ้น และจึงต้องจับตาต่อไปว่าเศรษฐกิจของจีน และอินเดียจะเข้ามามีบทบาทพยุงต่อเศรษฐกิจโลกได้มากน้อยเพียงใด
สัปดาห์นี้ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้น
แต่ให้ระวังแรงเทขายแรงออกมาและอาจเกิดการปรับฐานอีกครั้ง
แนะนำเข้าซื้อทองคำ บริเวณราคา 1,960 ดอลลาร์