ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นมากกว่า 1% ในวันศุกร์ (31 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดปรับตัวขึ้นมากที่สุดในไตรมาสแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565 เนื่องจากสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อได้เพิ่มความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในไม่ช้านี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,274.15 จุด เพิ่มขึ้น 415.12 จุด หรือ +1.26%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,109.31 จุด เพิ่มขึ้น 58.48 จุด หรือ +1.44% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,221.91 จุด เพิ่มขึ้น 208.44 จุด หรือ +1.74%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 3.2%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 3.5% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 3.4% โดยทั้งดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.
ในเดือนมี.ค. ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 1.9%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 3.5% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 6.7%
ส่วนในไตรมาสแรก ดัชนีดาวโจนส์บวก 0.4%, ดัชนี S&P500 บวก 7% และดัชนี Nasdaq พุ่ง 16.8% ซึ่งนับเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรายไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563
ดัชนี S&P500 ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. และปรับตัวขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกัน นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ทะยานขึ้น 21.5% ในไตรมาสแรก
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นในไตรมาสแรก แม้หุ้นกลุ่มธนาคารเผชิญแรงเทขายอย่างหนักหลังการล่มสลายของธนาคารระดับภูมิภาค 2 แห่งของสหรัฐในช่วงต้นเดือนมี.ค. และทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตการเงินที่รุนแรงขึ้นก็ตาม
ดัชนี S&P500 หุ้นกลุ่มการเงินเป็นกลุ่มที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในไตรมาสแรก โดยร่วงลง 6.1% ขณะที่ดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค ร่วงลง 18.6%
ตลาดหุ้นสหรัฐได้แรงหนุน หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. ขณะที่เงินเฟ้อชะลอตัวลง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1% และชะลอตัวจากระดับ 5.3% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% และชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนม.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% และชะลอตัวจากระดับ 4.7% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% และชะลอตัวจากระดับ 0.5% ในเดือนม.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% หลังจากพุ่งขึ้น 2.0% ในเดือนม.ค. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. และอัตราการออมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.6% จากระดับ 4.4% ในเดือนม.ค.
เฟดได้ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ขณะที่การคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค.นั้น ได้ลดลงเหลือประมาณ 50% และมีแนวโน้มมากขึ้นที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.
หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในไตรมาสแรก โดยดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ของตลาดหุ้นฟิลาเดลเฟียพุ่งขึ้น 27.6%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีรายใหญ่ปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนย้ายเงินลงทุนออกจากหุนกลุ่มธนาคารเข้าสู่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีร่วงลงรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยลบสำหรับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีรายใหญ่
หุ้นแอปเปิล อิงค์ ปิดพุ่งขึ้น 1.6% ในวันศุกร์ ตามหุ้นเทคโนฯรายใหญ่อื่น ๆ และหุ้นแอปเปิ้ลยังได้แรงหนุนจากข่าวที่ว่า แอปเปิ้ลชนะคดีการยื่นอุทธรณ์เพื่อคัดค้านหน่วยงานควบคุมกฎระเบียบของอังกฤษที่จะตรวจสอบเกี่ยวกับการผูกขาดตลาดของแอปเปิ้ลในด้านเบราว์เซอร์บนมือถือและบริการเกมในระบบคลาวด์
นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับความเห็นของนางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตันที่กล่าวในวันศุกร์ว่า เมื่อเฟดตัดสินใจที่จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่เฟดจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนั้นไปอีกระยะ เพื่อที่จะช่วยลดเงินเฟ้อที่ระดับสูงลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์