บรรดานักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและนโยบายระบุว่า ไต้หวันกำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นให้ต้องเสริมแกร่งความสามารถในการป้องกันดินแดนและการสกัดกั้นจีน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.นี้
เมื่อเดือนที่แล้ว นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ไต้หวันจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองในการป้องกันดินแดน โดยจะทุ่มเม็ดเงินและปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยต่อไป ท่ามกลางภัยคุกคามจากจีน
ถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นการตอบโต้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ที่กล่าวว่าไต้หวันควรจ่ายเงินให้สหรัฐเพื่อแลกกับการคุ้มครองทางทหาร โดยนายทรัมป์กล่าวว่า “ไต้หวันไม่ได้ให้อะไรเราเลย และยึดเอาธุรกิจชิปของเราไป 100%”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คำพูดของนายทรัมป์ตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์คาดเดาไม่ได้ที่ไต้หวันกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวจากการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และประกาศสนับสนุนนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ให้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงตำแหน่ง ซึ่งเธอมีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศค่อนข้างน้อย
ศ.สตีเฟน แนกกี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและนานาชาติศึกษา มหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติในญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า นายไบเดนมีนโยบายต่อไต้หวันที่คงเส้นคงวามากกว่า ส่วนนายทรัมป์เอาแน่เอานอนไม่ได้และคาดเดาไม่ได้
ศ.แนกกีเสริมว่า สาเหตุหลักมาจากกลยุทธ์ที่แตกต่างกันของผู้นำทั้งสอง ในขณะที่นายไบเดนย้ำอยู่บ่อยครั้งว่าสหรัฐพร้อมช่วยปกป้องไต้หวัน แต่นายทรัมป์กลับดำเนินนโยบาย “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” (Strategic Ambiguity)
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เพียงไม่กี่วันหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นายทรัมป์ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกในรอบหลายทศวรรษที่ติดต่อพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีไต้หวันในสมัยนั้น
หลังจากนั้นไม่นาน นายทรัมป์บอกเป็นนัยว่าสหรัฐอาจเปลี่ยนจุดยืนที่มีมายาวนานว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่สุดท้ายเขาก็กลับมายืดจุดยืนเดิมในการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน เมื่อเดือนก.พ. 2559
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์