ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (26 ส.ค.) แต่ดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ โดยถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นอินวิเดีย (Nvidia) ก่อนที่บริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 41,240.52 จุด เพิ่มขึ้น 65.44 จุด หรือ +0.16%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,616.84 จุด ลดลง 17.77 จุด หรือ -0.32% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,725.77 จุด ลดลง 152.03 จุด หรือ -0.85%
ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ ส่วนดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดดีดตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากหุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ และหุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ซึ่งต่างก็ปรับตัวขึ้นราว 1%
หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 1.12% ตามด้วยดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวลง 0.81% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดที่ 1.11% ตามด้วยดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวขึ้น 0.72%
หุ้นอินวิเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) รายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 2.25% ก่อนที่บริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการในวันพุธ (28 ส.ค.) โดยคาดว่ารายงานผลประกอบการของอินวิเดียจะเป็นข้อมูลที่ตลาดจับตามากที่สุดในสัปดาห์นี้
นักลงทุนบางส่วนกังวลว่า หากตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการของอินวิเดียไม่ได้ออกมาแข็งแกร่งอย่างที่คาดหวังไวั ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, อัลฟาเบท และเมตา แพลตฟอร์มส์
หุ้นเทสลา ร่วงลง 3.2% หลังจากรัฐบาลแคนาดาประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนในอัตรา 100% โดยคำประกาศดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามแนวทางของสหรัฐและสหภาพยุโรป (EU)
หุ้นโบอิ้ง ปรับตัวลง 0.85% หลังจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (NASA) เลือกใช้ยานอวกาศสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของนายอีลอน มัสก์ แทนที่จะเป็นยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ของโบอิ้ง ในการนำนักบินอวกาศกลับสู่โลกในปีหน้า
ตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 70% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนัก 30% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนก.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% เช่นกันในเดือนมิ.ย. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย.
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์