ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งซื้อทองคำต่อ
Gold Bullish
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
- ธนาคารกลางจีนกลับมาซื้อทองคำสำรอง
Gold Bearish
- แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า
- เฟดชะลอการปรับลดดอกเบี้ย
ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งซื้อทองคำต่อ ด้านธนาคารกลางจีนกลับมาซื้อทองคำสำรองอีกครั้ง
แม้ในช่วงระยะสั้นราคาทองคำมีทิศทางปรับตัวลง แต่การปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากทองคำยังคงมีแรงซื้อเข้ามาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามที่รุนแรงขึ้น หรือแม้แต่แรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังคงเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2565 ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำรวมกว่า 1,037.40 ตัน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 เพียง 44.50 ตัน จากปี 2565 ที่ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำรวมกว่า 1,081.9 ตัน ทั้งนี้ปี 2565 เป็นปีที่มียอดซื้อสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2510 ขณะที่ปีนี้ปี 2567 ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเดินหน้าเข้าซื้อทองคำไปแล้วกว่า 694 ตัน ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 (เพิ่มขึ้น 211 ตันจากครึ่งปีแรกที่ 483 ตัน) โดยการเข้าซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 43.68% ในไตรมาส 3 จากครึ่งปีแรกของปี 2567 นับว่าเป็นการเข้าซื้อที่เร่งตัวอย่างมากจากธนาคารกลางทั่วโลก โดยมีการเข้าซื้อสุทธิติดต่อกันกว่า 17 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2566 จนถึงต.ค.2567 และยังถือว่าธนาคารกลางทั่วโลกมียอดซื้อทองคำสุทธิรายเดือนในเดือนต.ค.สูงสุดในปีนี้ (ยอดซื้อสุทธิ 60 ตันในเดือนต.ค.) โดยยอดซื้อทองคำในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากค่าเฉลี่ย 12 เดือน
ทั้งนี้อินเดีย ตุรกี และโปแลนด์เป็นผู้นำในการซื้อสุทธิในปีนี้ ที่น่าจับตามองคือ อินเดีย ที่เริ่มมีการเร่งเข้าซื้อทองคำอย่างมาก หลังจากที่อินเดียมีการลดภาษีนำเข้าทองคำ ทำให้มี demand ทองคำเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเข้าซื้อทองคำสำรองจากธนาคารกลางอินเดีย (RBI) เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการซื้อสุทธิของอินเดีย ณ วันที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นห้าเท่าจากปี 2566 (ซึ่งอินเดียซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 27 ตันในเดือนต.ค. ทำให้การซื้อทองคำทั้งหมดอยู่ที่ 77 ตัน ณ วันที่ปัจจุบัน) ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จึงขึ้นเป็นอันดับ 1 ของการเข้าซื้อทองคำสำรองในปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐตุรกีตามมาเป็นอันดับที่ 2 ของการเข้าซื้อทองคำสำรองในปีนี้ โดยเดือนต.ค.เป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกันที่มีการซื้อสุทธิ และเป็นตัวเลขรายเดือนที่รายงานสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2566 ตัวเลขของเดือนต.ค.สูงกว่ายอดรวมรายไตรมาสของไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งตุรกีซื้อทองคำเพิ่ม 72 ตันปีนี้ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 34% ของเงินสำรองทั้งหมด ขณะที่ธนาคารแห่งชาติโปแลนด์ตามมาเป็นอันดับที่ 3 ของการเข้าซื้อทองคำปีนี้ โดยมียอดซื้อสุทธิ 8 ตันในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โปแลนด์ซื้อสุทธิ 69 ตันปีนี้ คิดเป็น 17% ของเงินสำรองทั้งหมด โปรแลนด์ได้มีซื้อทองคำต่อเนื่อง เนื่องจากมีแผนต้องการเพิ่มทองคำเป็นทุนสำรองที่เป้าหมาย 20%
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนได้กลับเข้ามาซื้อทองคำสำรองอีกครั้ง จากที่จีนได้มีการซื้อทองคำมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในช่วงต้นปีนี้ แต่เนื่องจากจีนหยุดซื้อทองคำนับตั้งแต่เดือนพ.ค. ทำให้จีนตกมาอยู่เป็นอันดับที่ 4 ของการเข้าซื้อทองคำสำรองในปีนี้ เนื่องจากสาเหตุราคาทองคำสูงขึ้นทำ All-Time High และภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนเริ่มกลับมาซื้อทองคำอีกครั้งในเดือนพ.ย.หลังจากที่หยุดซื้อไปกว่า 6 เดือน การกลับเข้ามาซื้ออีกครั้งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าธนาคารกลางจีนอาจคุ้ยเคยกับระดับราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว และพร้อมที่จะเดินหน้าเข้าซื้อทองคำสำรองโดยไม่กังวลถึงระดับราคาที่อยู่ระดับสูง ทองคำจึงอาจยังได้รับปัจจัยหนุนจากประเด็นดังกล่าว
แม้ว่าสัญญาณทางเทคนิคของราคาทองคำจะมีทิศทางปรับตัวลง แต่คาดว่าเป็นการปรับตัวลงอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ราคาทองคำอาจมีแนวรับที่สำคัญบริเวณ 2,580 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับของเส้น SMA100 คาดว่าเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง และอาจเกิดการฟื้นตัวบริเวณแนวรับดังกล่าว โดยราคาทองคำมีแนวรับ 2,600 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไปที่ 2,580 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาทองคำมีแนวต้าน 2,660 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,670 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลง แต่คาดว่าไม่มากนัก หากยืนเหนือ 41,800-42,000 บาทได้ อาจมีการฟื้นตัวเกิดขึ้น โดยมีแนวรับ 42,000 บาท และแนวรับถัดไป 41,800 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 42,850 บาท และ 43,000 บาท