ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50%
อัตราดอกเบี้ยย้อนหลังของญี่ปุ่นปี 1972 – 2025
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2551 และเป็นการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่ที่มีการปรับขึ้นในเดือนต.ค. ปี 2567 โดยมติการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจ ดังนี้
อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมาย
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ BOJ กำหนดไว้ที่ 2% และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565
ราคาพลังงานในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปรับตัวขึ้นถึง 10.1% จากระดับ 6% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลจากการสิ้นสุดนโยบายอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล
แรงกดดันจากตลาดและนักเศรษฐศาสตร์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงสูง รวมถึงสัญญาณที่ BOJ ได้ส่งมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน
ผลกระทบจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนด้านสาธารณูปโภคทำให้ต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนีเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว
เป้าหมายการปรับสู่ความเป็นกลางทางนโยบายการเงิน
การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามของ BOJ ที่จะปรับนโยบายการเงินให้อยู่ในระดับที่เป็นกลางมากขึ้น หลังจากใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (Ultra-loose Monetary Policy) มาเป็นระยะเวลานาน
การตัดสินใจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แสดงถึงความพยายามในการรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อและการสนับสนุนเศรษฐกิจ หลังประกาศดังกล่าว เงินเยนอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 156.09 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นโตเกียวตอบรับเชิงบวก ดัชนีนิเคอิปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.59%
โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเช้า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยทันทีระหว่างการกล่าวในงาน WEF 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในช่วงที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สู่ระดับ 0.50% ค่าเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง จนแตะระดับ 33.61 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุด นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568
ขณะที่ทางด้านราคาทองคำปรับตัวขึ้นจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้ออีกครั้ง ส่งผลให้ราคาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ขณะที่ทองคำในประเทศถูกกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า จึงเร่งตัวขึ้นน้อยกว่าทองคำในตลาดโลกในช่วงเช้า