ภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมของสหรัฐฯ
ทำให้ทองคำกลับมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย?
Gold Bullish
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
- ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ารอบใหม่
Gold Bearish
- เฟดชะลอการปรับลดดอกเบี้ย
ภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ทำให้ทองคำกลับมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย?
ประเด็นที่ยังต้องจับตากันต่อในสัปดาห์นี้ ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งได้มีการยกระดับขึ้น จากก่อนหน้านี้สหรัฐได้ทำสงครามการค้ากับจีน แต่ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นอัตรา 25% โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทาง “America First” ที่ทรัมป์ได้ดำเนินการมาโดยตลอด
ซึ่งการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ จากข้อมูลในช่วงปี 2565-2567 สหรัฐฯ นำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดา จีน และเม็กซิโกมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 48.1% ของการนำเข้าทั้งหมด มูลค่ารวมอยู่ที่ 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยมีการนำเข้าจาก แคนาดา 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (20.9%) จีน 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (15.9%) และ เม็กซิโก 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11.2%)
การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กและอะลูมิเนียม เช่น ยานยนต์ การก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์ จะต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับราคาสินค้าขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในที่สุด แม้ว่าผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมภายในประเทศอาจได้รับประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นและความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่อาจมีความเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจที่ใช้เหล็กและอะลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบหลักอาจลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนพนักงานหรือปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านั้น และประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างกรณีนี้ เกือบทุกประเทศทั่วโลกอาจออกมาตรการตอบโต้ เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมส่งออกของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดสงครามการค้าขยายวงกว้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มความตึงเครียดทางการค้าและส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้การขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น นักลงทุนมักมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์
ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และหากหากสงครามการค้าทวีความรุนแรง นักลงทุนอาจเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าถือทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น
ดัชนี Trump Risk Index ชี้ไทยเสี่ยง! อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ จะมีสัดส่วนไม่สูงมากนัก เนื่องจากการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 11 โดยมีมูลค่าปีละ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2% จากมูลค่านำเข้าทั้งหมด อย่างไรก็ดี ไทยส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 33.3% หรือราว 1 ใน 3 ซึ่งสูงกว่าการส่งออกอะลูมิเนียมที่มีสัดส่วน 13.8% อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จาก “ดัชนีความเสี่ยงของทรัมป์ (Trump Risk Index)” ประเทศไทยมีความเสี่ยงสุดเป็นอันดับ 2 เรื่องการค้า และการใช้จ่ายกลาโหม ซึ่งไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมาก ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ พิจารณาใช้มาตรการกีดกันเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อลดการขาดดุลการค้า หากเกิดขึ้นจริง อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลง และส่งผลต่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาทองคำมีความสัมพันธ์ผกผันกับค่าเงิน หากเงินบาทอ่อนค่าลง ต้นทุนการนำเข้าทองคำจะสูงขึ้น ทำให้ราคาทองคำในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แนวโน้มราคาทองคำสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตามสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้น ทำให้ราคาทองคำอาจมีความผันผวนเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสงครามการค้าอาจเป็นแรงหนุนให้ราคาทองคำมีแนวโน้มขาขึ้นในระยะยาว แต่เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำ All-time high แล้วเข้าใกล้บริเวณแนวต้าน 2,950-3,000 ดอลลาร์ และสัญญาณทางเทคนิคจาก Modified Stochastic เข้าสู่ภาวะ Overbought จึงให้ระวังแรงเทขายระยะสั้น จึงแนะนำเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำย่อตัวลงมาบริเวณแนวรับ 2,820 ดอลลาร์ และแนวรับ 2,800 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำมีแนวต้าน 2,900 ดอลลาร์ และ 2,940 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศมีแนวรับ 45,900 บาท และ 45,500 บาท ส่วนแนวต้าน 46,400 บาท และ 46,750 บาท