ธนาคารกลางจีน (PBOC) คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ พร้อมกับกล่าวว่า PBOC ไม่ได้มองว่าภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืดจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเศรษฐกิจจีน
การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า ดัชนี CPI เดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.พ.ที่ปรับตัวขึ้น 1% และเป็นการขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 โดยข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคจีนกำลังชะลอตัวลง
อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.ของจีนขยายตัวแข็งแกร่งถึง 10.6% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ นายโจว หลาน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายการเงินของ PBOC กล่าวว่า “เมื่อผลของการใช้นโยบายสนับสนุนด้านการเงินเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น เราก็คาดหวังว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคจะฟื้นตัวขึ้นอีก และเราคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อของจีนจะค่อย ๆ ฟื้นตัวสู่ระดับเฉลี่ยของในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนตลอดปี 2566 นั้น คาดว่าดัชนี CPI เคลื่อนไหวในลักษณะ U-shaped โดยทางการจีนตั้งเป้าไว้ว่าดัชนี CPI จะอยู่ที่ระดับ 3% ในปี 2566”
นอกจากนี้ นายโจวคาดการณ์ว่า ในระยะกลางจนถึงระยะยาวนั้น เศรษฐกิจจีนจะไม่ถูกกระทบจากภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืด เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานในระบบเศรษฐกิจจีนเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกัน และนโยบายการเงินก็อยู่ในระดับที่เหมาะสม
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธนาคารกลางจีนยังคงดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะค่อนข้างผ่อนคลาย เมื่อเทียบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มในวันข้างหน้า นายโจวกล่าวว่า นโยบายการเงินของจีนจะยังคงมีประสิทธิภาพและถูกนำมาใช้แบบเจาะจงเป้าหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เขากล่าวว่า การล้มละลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตาความเสี่ยงที่เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ย
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์