Gold Bullish
- ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
- ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น
- ความไม่แน่นอนของการขยายเพดานหนี้สหรัฐที่ระดับ 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- การใกล้ยุติวงจรขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- วิกฤตภาคธนาคารอาจยังไม่จบ
Gold Bearish
- การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น
ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำในเดือนพ.ค.
ประเด็นที่ต้องติดตามนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. ปัจจัยแรก ยังคงต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีขึ้นวันที่ 2-3 พ.ค. แม้ว่าอาจจะมั่นใจว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.0%-5.25% แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องติดตาม คือการแถลงของประธานเฟดจะมีท่าทีอย่างไรต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากข้อมูลล่าสุดที่เฟดเปิดเผยออกมาได้สะท้อนถึงแนวโน้มว่าเฟดอาจหยุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยยาวไปจนถึงปี 2567 ซึ่งสวนทางกับนักลงทุนคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูง อาจจะส่งผลให้เฟดยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดเงินเฟ้อ แม้ว่าจะเสี่ยงที่สหรัฐจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่จากการพิจารณามุมมองของเฟดแล้วมีโอกาสที่เฟดจะเลือกลดเงินเฟ้อมากกว่า แม้ยอมแลกกับเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยก็ตาม ทั้งนี้ถ้าเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป อาจส่งผลลบต่อราคาทองคำ ประโยคเด็ดกับคำว่า “sell in may and go away” จะส่งผลเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ เพราะจากข้อมูลสถิติที่ผ่านมานั้น ผลตอบแทนของทองคำเฉลี่ย 10 ปีมักจะได้รับผลตอบแทนติดลบ โดยเดือนพ.ค. ผลตอบแทนราคา spot เฉลี่ย 10 ปีติดลบ 0.69% และในเดือนมิ.ย. ผลตอบแทนราคา spot ติดลบ 0.11% อย่างไรก็ตามผลตอบแทนราคา spot เฉลี่ย 3 ปี และ 5 ปี กลับยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่คาดว่าแรงซื้อทองคำจะน้อยลงในช่วงไตรมาส 2 ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการทองคำลดลงตามฤดูกาล โดยเฉพาะความต้องการทองคำจากจีน จากการบริโภคทองคำเฉลี่ยรายไตรมาส 10 ปี พบว่า ในไตรมาสที่ 1 การบริโภคทองคำในจีนมักจะสูงมากที่สุดของแต่ละปีนั้น ขณะที่ความต้องการทองคำน้อยลงในไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จะเริ่มดีดตัวขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 แต่ความต้องการไม่สูงเท่าไตรมาสที่ 1 สุดท้ายการบริโภคทองคำจะน้อยที่สุดในไตรมาสที่ 4 ของปีนั้น ๆ
การบริโภคทองคำเฉลี่ยรายไตรมาส 10 ปี (เครื่องประดับ + การลงทุน)
ปัจจัยต่อมา ปัญหาภาคธนาคารสหรัฐที่อาจยังไม่จบ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอาจจะไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยกู้วิกฤตของธนาคาร First Republic Bank และยังมีความเสี่ยงที่ถูกจำกัดการกู้ยืมเงินจากเฟด ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมาลูกค้าจากแบงก์ดังกล่าวแห่ออกมาถอนเงินอย่างต่อเนื่อง หากว่ารัฐบาลยังไม่สามารถหาทางออกได้ ก็อาจส่งผลทำให้มีโอกาสเกิดวิกฤตภาคธนาคารเหมือนเช่นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมานั้น
.
อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการเจรจาการขยายเพดานหนี้สหรัฐ แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ก็ตาม แต่พ่วงมาด้วยมาตรการปรับลดการใช้จ่ายในช่วง 10 ปีข้างหน้า จึงทำให้คาดว่าอาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพราะว่าพรรคเดโมแครตที่ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ต้องการให้เพิ่มเพดานหนี้โดยไม่มีเงื่อนไขอื่น ๆ พ่วงมาด้วย หรือถ้าผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ก็มีแนวโน้มที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะใช้สิทธิ์วีโต เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว จึงยังคงเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของการขยายเพดานหนี้ ขณะที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าเม็ดเงินในมาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังจะหมดลงก่อนต้นเดือนมิ.ย. จึงยังคงมีความเสี่ยงที่สหรัฐจะเผชิญต่อการปิดหน่วยงานรัฐบาล และอาจเกิดความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนก.ค. หรือเดือนส.ค. และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมาก อาจเกิดการสูญเสียตำแหน่งงาน อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้า ทำให้ภาคครัวเรือนต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง เงินกู้ซื้อรถยนต์ และบัตรเครดิตในอัตราที่สูงขึ้น
ช่วงต้นสัปดาห์คาดว่าราคาทองคำปรับตัวลดลงในกรอบที่จำกัด ภายหลังการประชุมเฟด ราคาทองคำอาจเผชิญต่อความผันผวนได้ แนะนำรอเข้าซื้อราคาทองคำบริเวณ 1,970 ดอลลาร์และเข้าซื้ออีกครั้งช่วงที่ราคาทองคำปรับลงมาบริเวณ 1,950 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับที่คาดว่าอาจเกิดการ rebound ได้