ข่าวสารการลงทุน

ดาวโจนส์ปิดร่วง 494.82 จุด วิตกเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย

02 สิงหาคม 2567|08:49 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 500 จุดในวันพฤหัสบดี (1 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอ และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงเกินคาด

          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,347.97 จุด ลดลง 494.82 จุด หรือ -1.21%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,446.68 จุด ลดลง 75.62 จุด หรือ -1.37% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,194.15 จุด ลดลง 405.25 จุด หรือ -2.30%

          ตลาดหุ้นนิวยอร์กเริ่มต้นเดือนส.ค.ด้วยการร่วงลงอย่างหนัก หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงิน

          สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.8 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2566 จากระดับ 48.5 ในเดือนมิ.ย. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.8

          ทั้งนี้ ดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานในภาคการผลิตที่หดตัวลง

          ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 14,000 ราย สู่ระดับ 249,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 236,000 ราย

          ลู บาเซนีส หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดของบริษัท MDB Capital ในรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้ตลาดเกิดความวิตกว่าเฟดอาจตัดสินใจล่าช้าเกินไปในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และขณะนี้มีนักลงทุนน้อยมากที่เชื่อมั่นว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงแบบซอฟต์แลนดิ้ง โดยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดถือเป็นหลักฐานที่สนับสนุนว่าเพราะเหตุใดนักลงทุนจึงกังวลในเรื่องนี้

          ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้น 13.63% ปิดที่ 18.59 หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับ 19.48 ในระหว่างวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.

          หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงานที่ร่วงลงอย่างหนักถึง 3.36% และ 2.56% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.85% และ 1.58% ตามลำดับ

          หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เกตแคปสูง ซึ่งรวมถึงหุ้นแอปเปิ้ล ร่วงลง 1.68% และหุ้นอะเมซอน ดิ่งลง 1.56% ก่อนที่ทั้งสองบริษัทจะเปิดเผยผลประกอบการหลังจากตลาดปิดทำการ

          หุ้นบริษัทผลิตชิปถูกเทขายอย่างหนัก หลังจากบริษัทควอลคอมม์ และอาร์ม โฮลดิ้งส์ เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง โดยหุ้นอินวิเดีย ร่วงลง 6.67% หุ้นควอลคอมม์ ร่วงลง 9.37% และหุ้นอาร์ม ดิ่งลง 15.72% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ตลาดฟิลาเดลเฟีย (PHLX Semiconductor Index) ร่วงลง 7.14% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2565

          หุ้นโมเดอร์นา ดิ่งลงกว่า 21% หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ยอดขายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 และไวรัส RSV ในปีงบการเงิน 2567

          นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ค.ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางตลาดแรงงาน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. จากระดับ 206,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.1% ในเดือนก.ค.

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

 
ตลาดหุ้น

ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 390.08 จุด หุ้นเทคโนฯหนุนตลาดต่อเนื่อง

08:33 น.

 
ตลาดทองคำ

ทองปิดบวก $7.30 นักลงทุนจับตาทิศทางดอกเบี้ยเฟด

08:30 น.

 
ตลาดหุ้น

ดาวโจนส์ปิดบวก 66.69 จุด หุ้นเทคโนโลยีพุ่งหนุนตลาด

08:18 น.

 
ตลาดทองคำ

ทองปิดลบ $16.90 บอนด์ยีลด์พุ่ง-ดอลล์แข็งทุบตลาด

08:16 น.

คำถามที่พบบ่อย

เกี่ยวกับเรา

พูดคุยกับเรา

พบเจอปัญหา หรือมีข้อสงสัย
ทักหาเราได้เลยที่นี่

เวลาทำการลูกค้าสัมพันธ์
จันทร์ - ศุกร์ 08.30 น. - 24.00 น.
เสาร์ - อาทิตย์ 08.30 น. - 17.30 น.

For the best experience, we recommend viewing the site in portrait orientation on mobile devices.

ตะกร้าสินค้า0
ไม่มีสินค้าในตะกร้า
เลือกซื้อสินค้าต่อ
This site is registered on wpml.org as a development site. Switch to a production site key to remove this banner.