สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหมืองทองคำทั่วโลกกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการรักษาอัตราการขยายตัวด้านการผลิตทองคำ ในขณะที่แหล่งแร่ทองคำกลายเป็นสิ่งที่หายากมากขึ้น
นายจอห์น รี้ด หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดของ WGC กล่าวว่า “ในช่วงไตรมาส 1/2567 การผลิตทองคำในเหมืองทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่เมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ ผมคิดว่าการขยายตัวของการผลิตทองคำเริ่มอ่อนแรงลงในปี 2559 และปี 2561 และหลังจากนั้นก็ไม่มีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ”
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศ (ITA) ซึ่งระบุว่า การผลิตทองคำในเหมืองทั่วโลกขยับขึ้นเพียง 0.5% เท่านั้นในปี 2566
ในปี 2565 การผลิตทองคำในเหมืองทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.35% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.7% ในปี 2564 ส่วนในปี 2563 การผลิตทองคำในเหมืองทั่วโลกลดลง 1% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี
“สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือ ในช่วงเวลา 10 ปีหลังจากการผลิตทองคำพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2551 นั้น อุตสาหกรรมเหมืองทองคำประสบกับความยากลำบากในการรัษาอัตราการขยายตัวด้านการผลิตทองคำ เนื่องจากแหล่งแร่ทองคำใหม่ ๆ ทั่วโลกหายากขึ้น และหลายพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะพบแร่ทองคำนั้น ก็ได้ถูกสำรวจไปหมดแล้ว” นายรี้ดกล่าว
WGC ระบุว่า เหมืองทองคำขนาดใหญ่ต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก อีกทั้งต้องมีการสำรวจและการพัฒนาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 10-20 ปีก่อนที่เหมืองจะมีความพร้อมในการผลิต และต่อให้เหมืองเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการสำรวจ แต่โอกาสในการค้นพบแร่ทองคำที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาได้นั้น อยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยรายงานระบุว่าทองคำทั่วโลกที่ถูกพบว่ามีแร่ทองคำในปริมาณมากพอที่จะได้รับการรับรองให้ทำเหมืองทองคำได้นั้น มีเพียง 10% เท่านั้น
นายรี้ดยังกล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากกระบวนการค้นหาทองคำแล้ว บริษัทเหมืองยังเผชิญกับความยากลำบากในการได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งการได้รับใบอนุญาตถือเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่บริษัทเหมืองจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ต้องใช้เวลาหลายปี
“การค้นหาทองคำ การขอใบอนุญาต และการดำเนินงาน ขั้นตอนเหล่านี้มีความยากลำบากมากขึ้น” นายรี้ดกล่าว
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์