ข่าวสารการลงทุน

ดาวโจนส์ปิดร่วง 605.78 จุด กังวลเงินเฟ้อหนุนเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงนาน

24 พฤษภาคม 2567|08:48 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 600 จุดในวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล โดยความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาดของบริษัทอินวิเดีย (Nvidia)

          ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,065.26 จุด ลดลง 605.78 จุด หรือ -1.53%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,267.84 จุด ลดลง 39.17 จุด หรือ -0.74% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,736.03 จุด ลดลง 65.51 จุด หรือ -0.39%

          ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีปิดตลาดร่วงลง หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจและตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เฟดชะลอเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

          เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนพ.ค.ของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 54.4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ

          รายงานของเอสแอนด์พี โกลบอลยังระบุด้วยว่า กลุ่มผู้ผลิตรายงานว่าต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ตั้งแต่โลหะ เคมีภัณฑ์ พลังงาน ไปจนถึงต้นทุนแรงงาน ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

          กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 220,000 ราย ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง

          ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นแตะระดับ 4.487% เมื่อคืนนี้ และเป็นปัจจัยฉุดตลาด โดยเฉพาะดัชนี Russell 2000 ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ ร่วงลง 1.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.ปีนี้

          ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 52.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. ลดลงจากที่ให้น้ำหนัก 67% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

          หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสาธารณูปโภค ร่วงลง 2.16% และ 1.70% ตามลำดับ

          ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดีดตัวขึ้น 0.56% โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นอินวิเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) รายใหญ่ของสหรัฐ หลังบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาด และเป็นปัจจัยหนุนดัชนี Nasdaq และดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระหว่างวัน

          หุ้นอินวิเดียพุ่งขึ้น 9.32% ปิดที่เหนือระดับ 1,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก หลังบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1 ของปีงบการเงิน 2568 อยู่ที่ 6.12 ดอลลาร์ มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.59 ดอลลาร์ ส่วนรายได้อยู่ที่ 2.604 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 2.465 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ อินวิเดียคาดการณ์ว่ารายได้ในไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน 2568 จะอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.661 หมื่นล้านดอลลาร์

          หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 7.55% และเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง หลังจากบริษัทคาดการณ์ว่ากระแสเงินสดหมุนเวียนในปี 2567 อาจชะลอตัวลงเนื่องจากการส่งมอบเครื่องบินปรับตัวลดลง

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

 
คามาลา แฮร์ริส

“คามาลา แฮร์ริส” กดดัน “เนทันยาฮู” ทำข้อตกลงหยุดยิงในกาซา ลั่นจะไม่อยู่เฉยแน่

13:26 น.

 
ตลาดหุ้น

ดาวโจนส์ปิดร่วง 504.22 จุด, S&P500 ดิ่งหนัก ผิดหวังผลประกอบการเทสลา-อัลฟาเบท

09:20 น.

 
ตลาดทองคำ

ทองปิดบวก $8.40 เหตุดอลล์อ่อนหนุนแรงซื้อ

09:19 น.

 
ตลาดหุ้น

ดาวโจนส์ปิดลบ 57.35 จุด นลท.จับตาผลประกอบการบริษัทเทคโนฯ

07:41 น.

คำถามที่พบบ่อย

เกี่ยวกับเรา

พูดคุยกับเรา

พบเจอปัญหา หรือมีข้อสงสัย
ทักหาเราได้เลยที่นี่

เวลาทำการลูกค้าสัมพันธ์
จันทร์ - ศุกร์ 08.30 น. - 24.00 น.
เสาร์ - อาทิตย์ 08.30 น. - 17.30 น.

For the best experience, we recommend viewing the site in portrait orientation on mobile devices.

ตะกร้าสินค้า0
ไม่มีสินค้าในตะกร้า
เลือกซื้อสินค้าต่อ
This site is registered on wpml.org as a development site. Switch to a production site key to remove this banner.