ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (23 ส.ค.) เนื่องจากความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 41,175.08 จุด เพิ่มขึ้น 462.30 จุด หรือ +1.14%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,634.61 จุด เพิ่มขึ้น 63.97 จุด หรือ +1.15% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,877.79 จุด เพิ่มขึ้น 258.44 จุด หรือ +1.47%
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นมากที่สุด 2.0% รองลงมาได้แก่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น 1.70% ขณะที่กลุ่มสินค้าจำเป็นปรับตัวขึ้น 0.23%
ในการกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิงนั้น นายพาวเวลกล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่ความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อจะเลวร้ายลงนั้นได้ลดน้อยลง และเฟดไม่คาดว่าตลาดแรงงานจะอ่อนแอลง”
ความเห็นของพาวเวลบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
ไรอัน ดีทริก หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของคาร์สัน กรุ๊ปกล่าวว่า พาวเวลได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า เดือนก.ย.จะเป็นการเริ่มต้นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้
หุ้นขนาดใหญ่ อาทิ อินวิเดีย, แอปเปิ้ล และเทสลา ปรับตัวขึ้นมากที่สุดหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของนายพาวเวล ขณะที่หุ้นขนาดเล็กและกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค ปรับตัวขึ้น 3.2% และ 4.9% ตามลำดับ
สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นรายตัวนั้น หุ้น Workday บริษัทซอฟต์แวร์ด้านทรัพยากรบุคคล พุ่งขึ้น 12% ซึ่งเป็นหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในดัชนี Nasdaq หลังเปิดเผยรายได้สูงกว่าคาดและประกาศแผนการซื้อหุ้นคืนวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์
หุ้น Ross Stores ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกสินค้าลดราคา พุ่งขึ้น 1.8% หลังบริษัทปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรในปีงบการเงิน 2567
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันศุกร์นั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 10.6% สู่ระดับ 739,000 ยูนิตในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2566 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 625,000 ยูนิต จากระดับ 668,000 ยูนิตในเดือนมิ.ย.
ส่วนในสัปดาห์นี้ เฟดจะพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจก่อนการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 ที่มีการปรับแก้ไข และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์