กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดในวันอังคาร (11 เม.ย.) โดยเตือนว่า ความเปราะบางของระบบการเงินจะก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่และจะฉุดเศรษฐกิจโลกให้อ่อนแอลงในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี IMF ยังคงสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงมาก
รายงานของ IMF ระบุว่า ความเสี่ยงในระบบธนาคารที่เกิดขึ้นหลังจากการล้มละลายของธนาคารระดับภูมิภาค 2 แห่งของสหรัฐนั้น ได้เริ่มคลี่คลายลงหลังจากหน่วยงานกำกับดูแลหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวด และธนาคารยูบีเอสได้เข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส อย่างไรก็ตาม ความปั่นป่วนดังกล่าวถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากภาวะเงินเฟ้อสูง และกระทบจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน
อย่างไรก็ดี แม้ IMF ส่งสัญญาณเตือนในเรื่องดังกล่าว แต่นายปิแอร์-โอลิเวียร์ โกรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า และนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ควรมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของเงินเฟ้อมากกว่าการขจัดความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพด้านการเงิน เว้นแต่ว่าวิกฤตการณ์ด้านการเงินจะมีความรุนแรงมาก ธนาคารจึงจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะกลางที่ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2533
ส่วนในระยะสั้น IMF คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 และ 2567 ที่ระดับ 2.8% และ 3% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 2.9% และ 3.1%
รายงานของ IMF ได้ระบุถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะขาลง ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับงบดุลบัญชีของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นเหตุให้การปล่อยกู้ในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ลดลง รวมทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลง, สงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน และเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าจากผลกระทบของโรคโควิด-19
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์