ธนาคารกลางตุนทองคำมากกว่า 1,000 ตัน ติดต่อกันปีที่ 3
ธนาคารกลางโปแลนด์ รั้งอันดับ 1 เข้าซื้อทองสำรองปี 2567
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำสำรองรวมเกือบ 1,045 ตัน ในปี 2567
- ธนาคารกลางโปแลนด์เข้าซื้อสูงสุดถึง 90 ตัน
แม้ว่าธนาคารกลางยังคงเดินหน้าเข้าซื้อทองคำในปี 2567 แตะระดับ 1,044.6 ตัน แต่ก็มีปริมาณลดลงจากปี 2566 ที่ระดับ 1,050.8 ตัน และในปี 2565 จำนวน 1,080.01 ตัน ซึ่งจากสถิติแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ในช่วงปี 2022 เป็นต้นมา ธนาคารกลางทั่วโลกมีการเข้าซื้อทองคำเพื่อเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญเป็นระยะเวลาถึง 3 ปีแล้ว
ทองคำซึ่งเป็นตัวแทนสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) และสามารถป้องกันความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อได้ดี ยังคงได้รับความสนใจจากธนาคารกลางต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะจากสงครามการค้าที่ สหรัฐฯ พร้อมจะปะทุกับหลายประเทศพันธมิตรที่เกิดดุลการค้ากับสหรัฐฯ อีกทั้งปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในปี 2025 ก็เป็นอีกปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางต่างๆ มีความต้องการสำรองทองคำเพิ่มสูงขึ้น
5 อันดับ ธนาคารกลางที่มีการเข้าซื้อมากที่สุดในปี 2024 ได้แก่
- อันดับ 1 ธนาคารกลางโปแลนด์ เข้าซื้อ 89.50 ตัน
- อันดับ 2 ธนาคารกลางตุรกี เข้าซื้อ 74.80 ตัน
- อันดับ 3 ธนาคารกลางอินเดีย เข้าซื้อ 72.60 ตัน
- อันดับ 4 ธนาคารกลางอาเซอร์ไบจาน เข้าซื้อ 44.80 ตัน
- อันดับ 5 ธนาคารกลางจีน เข้าซื้อ 44.20 ตัน
นอกจากนั้น ยังมีธนาคารกลางอีกหลายประเทศที่เข้าซื้อทองคำในปี 2024 ได้แก่ ธนาคารกลางแห่งอิรัก (20 ตัน), ธนาคารกลางแห่งอุซเบกิสถาน (11 ตัน), ธนาคารกลางแห่งกานา (11 ตัน), ธนาคารกลางแห่งคีร์กีซสถาน (6 ตัน), ธนาคารกลางแห่งโอมาน (4 ตัน), ธนาคารกลางแห่งรัสเซีย (3 ตัน ซึ่งคาดว่าสำหรับการผลิตเหรียญ) และธนาคารกลางแห่งซิมบับเว (1 ตัน)
แม้ว่าในปีดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการขายสุทธิทองคำ แต่รายงานดังกล่าวเป็นเพียงการปรับปรุงรายงานของจำนวนทองคำสำรองระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามความบริสุทธิ์ที่ IMF กำหนดไว้ที่ 99.50% – 99.99%