ปัจจัยอะไรที่ต้องติดตาม สำหรับการปรับฐานรอบใหม่ ทองจะขึ้นอีกเมื่อไหร่?
Gold Bullish
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
- ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ารอบใหม่
Gold Bearish
- เฟดชะลอการปรับลดดอกเบี้ย
ปัจจัยอะไรที่ต้องติดตาม สำหรับการปรับฐานรอบใหม่ ทองจะขึ้นอีกเมื่อไหร่?
สัปดาห์ก่อนราคาทองคำเริ่มปรับฐาน เนื่องจากราคาทองคำโลกได้ปรับตัวขึ้นไปแตะแนวต้านสำคัญที่ระดับ Fibonacci 1.618 ก่อนที่จะเริ่มปรับฐานลง ซึ่งสะท้อนว่าราคาทองคำได้ทดสอบเป้าหมายทางเทคนิคแล้ว
สำหรับแนวรับสำคัญของรอบนี้ อยู่ที่ระดับ Fibonacci 1.272 (2,855 ดอลลาร์) ซึ่งราคาทองคำหลุดแนวรับ 2,855 ดอลลาร์ ก่อนที่จะดีดกลับปิดตลาดเหนือแนวรับดังกล่าวเล็กน้อยในสัปดาห์ก่อน ทำให้อาจมีโอกาสลงไปทดสอบ 2,770 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแนวรับในการเข้าซื้อสำหรับนักลงทุนที่รอจังหวะอยู่
แต่คำถามสำคัญคือ ราคาทองจะกลับมาขึ้นอีกเมื่อไหร่? คำตอบขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาดังต่อไปนี้
1. ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ตลาดยังคงคาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2568 โดยเริ่มครั้งแรกเดือนมิถุนายน และครั้งที่สองเดือนกันยายน ซึ่งต้องรอติดตามการประกาศ Dot Plot วันที่ 19 มีนาคม ว่าจะมีการปรับมุมมองดอกเบี้ยในปีนี้อย่างไร หากส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 2 ครั้ง อาจเป็นปัจจัยที่กดดันราคาทองในปีนี้ แต่หากยังยืนยันว่ามีแนวโน้มที่จะปรับลดถึง 2 ครั้งจริงก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองโลก ให้กลับมาเร่งตัวขึ้นลุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเดิม มองว่าอาจยังคงเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้ ถึง 2 ครั้งได้ยาก แต่น่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง
2. สงครามการค้าและนโยบาย “ทรัมป์ 2.0”
ความไม่แน่นอนของแผนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ และสงครามการค้าได้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำ All-time high ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับจีน ทำให้จีนได้มีการตอบโต้กลับ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% นี้ทรัมป์ยังทำสงครามการค้ากับทุกประเทศ โดยทรัมป์ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นอัตรา 25% โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น ล่าสุดทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาความเป็นไปได้ในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทองแดง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์ในการใช้มาตรการกำแพงภาษีเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ด้านแผนการเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก หลังครบกำหนดเวลาผ่อนผัน 30 วัน ทรัมป์ยังยืนยันเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าสินค้า จุดชนวนความกังวลเรื่องสงครามการค้า โดยท่าทีของทรัมป์ดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกครั้ง จึงเป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
3. การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการลดการพึ่งพาดอลลาร์
BRICS ใหม่ ซึ่งมีสมาชิกเพิ่มเติม ได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก โดยถือครองสัดส่วนหลักในหลายภาคส่วน ได้แก่ การส่งออกสินค้า: 20.30% ของการส่งออกโลก การผลิตน้ำมัน: 34.28% ของอุปทานน้ำมันโลก ประชากร: 44.67% ของประชากรโลก GDP ตามความสามารถซื้อ (PPP): 36.44% ของเศรษฐกิจโลก หาก BRICS สามารถรวมตัวกันได้แข็งแกร่งขึ้น จะเป็นปัจจัยที่กดดันสหรัฐฯ และอาจทำให้ ดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลบวกต่อราคาทองคำ
4. ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจจีน
จีนกำลังเตรียม เพิ่มขาดดุลงบประมาณเป็น 4% ของ GDP ในปี 2568 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อรับมือกับสงครามการค้าของสหรัฐฯ โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย อัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ เช่น วิกฤติอสังหาริมทรัพย์และหนี้ท้องถิ่น หากจีนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเพิ่มดีมานด์ในตลาดโลก รวมถึงความต้องการทองคำ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำ
5. การซื้อทองคำของธนาคารกลาง
ปี 2567 เป็นปีที่ ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเกิน 1,000 ตัน เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยธนาคารที่ซื้อทองมากที่สุด ได้แก่ โปแลนด์ – 89.50 ตัน ตุรกี – 74.80 ตัน อินเดีย – 72.60 ตัน อาเซอร์ไบจาน – 44.80 ตัน และจีน – 44.20 ตัน ซึ่งธนาคารกลางจีนกลับมาซื้อทองคำ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แม้ว่าราคาทองคำจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการ ลดการพึ่งพาดอลลาร์ (De-dollarization) และการใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์สำรอง
6. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ซึ่งยังต้องติดตามปัจจัยดังกล่าว หากปัจจัยเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป ราคาทองคำมีโอกาสกลับมาเร่งตัวขึ้น และกลับมาทำจุดสูงสุดใหม่ในปี 2568 ได้อีกครั้ง