ราคาทองคำพุ่ง All-Time High!
สงครามการค้าสหรัฐ-จีนกำลังเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจโลก?
Gold Bullish
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
- ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ารอบใหม่
Gold Bearish
- เฟดชะลอการปรับลดดอกเบี้ย
ราคาทองคำพุ่ง All-Time High! สงครามการค้าสหรัฐ-จีนกำลังเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจโลก?
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-time high) ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนราคาทองคำยังคงเกี่ยวกับความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเปิดฉากขึ้นแล้วในวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
ย้อนรอยสงครามการค้าสหรัฐ-จีน! ในอดีต ภาษีศุลกากรของทรัมป์ส่งผลกระทบอย่างไร?
สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก สหรัฐและจีนได้ทำสงครามการค้า โดยทรัมป์เริ่มกำหนดภาษีศุลกากรสูงถึง 10-25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน จีนก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แม้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในยุคทรัมป์จะมีมาตรการกำแพงภาษี แต่ก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าจากจีนลงอย่างมีนัยสำคัญ สินค้าบางประเภท เช่น สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และอุปกรณ์สมาร์ทยังมีมูลค่านำเข้าสูงมาก โดยสหรัฐฯ มีดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยดุลการค้าในหมวดสินค้ามีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก -749.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 เป็น -1,082.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024 ซึ่งสหรัฐฯ ยังพึ่งพาการนำเข้าสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ การขึ้นภาษีครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากบริษัทอเมริกันที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน เช่น Apple และ Tesla ต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบหนักจากการที่จีนขึ้นภาษีถั่วเหลือง
ภาษีรอบใหม่! เกมเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน! จีน vs สหรัฐ—ใครได้เปรียบจากสงครามการค้า?
หลังจากสหรัฐขึ้นภาษีจีนอีกครั้ง ทำให้จีนได้มีการตอบโต้กลับ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ด้านการเกษตร และรถยนต์บางประเภท ในอัตรา 10% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. สร้างความกังวลกับนักลงทุนเกี่ยวกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ แต่ผลกระทบยังจำกัด เนื่องจากจีนมีซัพพลายเออร์หลักอื่น ๆ เช่น รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และออสเตรเลีย การนำเข้าน้ำมันดิบและ LNG จากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนน้อย ทำให้จีนสามารถปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าได้โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานมากนัก อย่างไรก็ตาม นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงาน การเกษตร และยานยนต์ของสหรัฐ โดยเฉพาะผู้ส่งออก LNG ที่อาจสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างกาตาร์และออสเตรเลีย เกษตรกรอาจได้รับผลกระทบหากจีนลดการนำเข้าถั่วเหลืองและเนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ ขณะที่บริษัทอย่าง Tesla อาจเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากผู้ผลิตจีน เช่น BYD
นอกจากนี้ สงครามการค้าที่เกิดขึ้นอาจทำให้มีความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้น และเร่งให้เกิดแนวโน้มในการแบ่งโลกออกเป็น 2 กลุ่มการค้าเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าวอาจผลักดันให้เกิด การแบ่งโลกออกเป็นสองกลุ่มการค้า ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ทำธุรกิจกับสหรัฐฯ และพันธมิตรของทรัมป์ และกลุ่มประเทศที่ทำธุรกิจกับจีนและกลุ่ม BRICS
แนวโน้มราคาทองสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตามสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีการยกระดับการทำสงครามการค้ากับพันธมิตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทรัมป์ได้มีการพูดคุยกับปูติน เพื่อหารือยุติสงคราม ทั้งนี้คาดว่าราคาทองคำอาจมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มขาขึ้น แต่ให้ระวังแรงเทขายระยะสั้นในสัปดาห์นี้ จึงแนะนำเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำย่อตัวลงมาบริเวณแนวรับ 2,820 ดอลลาร์ และแนวรับ 2,780 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำมีแนวต้าน 2,886 ดอลลาร์ และ 2,900 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศมีแนวรับ 45,600 บาท และ 45,200 บาท ส่วนแนวต้าน 46,000 บาท และ 46,300 บาท