สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ยังตึงเครียด
ดัชนี VIX พุ่ง ราคาทองโลกยังคงติดแนวต้าน $2,930
Gold Bullish
- ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าสหรัฐฯ
- ตลาดกังวลสหรัฐฯ เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
- ธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้น
- ตลาดคาดเฟดปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้
- ดัชนี VIX Index อยู่ในระดับสูง
Gold Bearish
- การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ – ยูเครน คลี่คลายลง
ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนเวลาการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% ออกไปจนถึงวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งการยกเว้นภาษีดังกล่าวจะมีผลกับสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ขณะเดียวกันทรัมป์ส่งสัญญาว่า การผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าสำหรับผู้ผลิตรถยนต์จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยกล่าวว่าเขาจะไม่ลงนามขยายเวลาการเก็บภาษีอีกในเดือนหน้า
ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% มีผลบังคับใช้วันที่ 4 มี.ค. 2568 เพิ่มจากเดิมที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 4 ก.พ. 2568 โดยทางสหรัฐฯ ระบุว่าทางการจีนยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการลักลอบนำเข้าเฟนทานิลที่ไหลเข้าสู่สหรัฐฯ ได้เพียงพอ ในระยะเวลา 1 เดือน สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นแล้วทั้งหมด 20% โดยทางการจีนก็ออกมาตรการภาษีโต้ตอบสหรัฐฯ กลับในทันที ซึ่งครอบคลุมสินค้าจำพวกอาหาร และสินค้าเกษตร เช่น เนื้อไก่ ผ้าฝ้าย รวมถึงถั่วเหลืองที่เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของจีน ความรุนแรงดูเริ่มหนักขึ้น หลังจากสถานทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกาโพสต์ข้อความจากกระทรวงการต่างประเทศจีนผ่านช่องทาง X โดยประกาศเตือนว่า จีนมีความพร้อมที่จะ ‘ทำสงครามรูปแบบใดก็ได้
ธนาคารกลางจีนตุนทองเพิ่ม
ธนาคารกลางประชาชนจีน (PBOC) ขยายทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการซื้อทองคำเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันในเดือนกุมภาพันธ์ มากสุดเป็นประวัติการณ์ สะสมทองคำเพิ่มขึ้น 0.16 ล้าน ทรอยออนซ์ (Troy Ounce) หรือประมาณ 5 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ความเคลื่อนไหวล่าสุดแสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางประชาชนจีนพยายามกระจายสินทรัพย์ของทุนรองให้มีความหลากหลาย เช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน ขณะที่มีการคาดเดาว่าสหรัฐอาจทบทวนมูลค่าทองคำสำรอง (Gold Revaluation) ของตัวเองอีกด้วย ทำให้ทองคำตกอยู่ในความสนใจของตลาดในฐานะทุนสำรอง
ตลาดคาดเฟดปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้
ล่าสุด CME FedWatch Tool ได้คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และ ตุลาคม 2568 สู่ระดับ 3.50 – 3.75%
ขณะที่ทางด้านนาย ราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ได้ออกมาแถลงการณ์ช่วงปลายสัปดาห์ก่อน ว่ายังมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะผันผวนอย่างมาก เฟดมีกำหนดประชุมกำหนดนโยบายการเงินครั้งถัดไปในวันที่ 18-19 มี.ค.นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในช่วงปัจจุบันที่ 4.25%-4.50%
ดัชนี VIX Index อยู่ในระดับสูง
Volatility Index (VIX) คือ ดัชนีแสดงความผันผวน ที่สร้างขึ้นโดย Chicago Board Options Exchange (CBOE) โดยหลักการหากค่าของ VIX อยู่สูงกว่าระดับ 20 จะบ่งชี้ความกังวลของนักลงทุนและความผันผวนของราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากอยู่ในช่วงที่ราคาทองกำลังปรับตัวลง ก็อาจถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการเข้าถือครองทองเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
ความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ – ยูเครน รอบใหม่
หลังมีรายงานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ว่า การเจรจาระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กับโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ยังไม่อาจบรรลุผล อีกทั้งยังหยุดให้ความช่วยเหลือทางการทหารทั้งหมดแก่ยูเครน ซึ่งถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่สำหรับรัฐบาลยูเครนเท่านั้น แต่รวมถึงพันธมิตรชาติยุโรป โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาอังกฤษ ฝรั่งเศสและยูเครน ตกลงที่จะเดินหน้าร่วมกันทำแผนหยุดยิงเพื่อนำเสนอให้กับสหรัฐฯ โดยประกาศแผน 4 ขั้นรับประกันสันติภาพยูเครน เพื่อ ได้แก่ การรักษากระแสความช่วยเหลือทางทหารให้เข้าสู่ยูเครนในขณะที่สงครามยังดำเนินอยู่ และเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย, สันติภาพอย่างยั่งยืนใดๆ ต้องรับรองอธิปไตยและความมั่นคงของยูเครน และยูเครนจะต้องได้ร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพใดๆ ก็ตาม, กรณีที่มีการทำข้อตกลงสันติภาพ ผู้นำยุโรปจะวางเป้าหมายเพื่อป้องปรามไม่ให้รัสเซียรุกรานยูเครนในอนาคต และควรมีความตั้งใจร่วมกันในการป้องกันยูเครนและรับประกันสันติภาพในประเทศนี้ โดยประเด็นดังกล่าวยังต้องติดตามต่อไป หากสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก็อาจส่งผลให้สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงบลง และอาจส่งผลในเชิงลบต่อราคาทอง
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- ท่าทีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อนโยบายเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ
- การเจรจาสงครามรัสเซีย-ยูเครน
- วันพุธที่ 12 มีนาคม เวลา 19.30 น.
สหรัฐฯ เตรียมเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หากตัวเลขเงินเฟ้อยังปรับตัวลงใกล้เงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2.0% ก็อาจเป็นสัญญาณที่ดี ก่อนมีการประชุมธนาคารสหรัฐฯ ในวันที่ 18-19 มีนาคมนี้ พร้อมประกาศทิศทางดอกเบี้ยใน Dot Plot ต่อไป - วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม เวลา 19.30 น.
ติดตามดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐฯ - วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม เวลา 21.00 น.
ติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย ม.มิชิแกน เดือนมี.ค. ค่าดัชนีนี้มีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ เพราะหาก
ผู้บริโภครู้สึกมั่นใจ ประชาชนจะใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ถ้าค่าดัชนีลดลง แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มกังวลต่อเศรษฐกิจ จึงอาจลดการใช้จ่าย ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
แนวโน้มราคาทองในสัปดาห์
ราคาทองโลกในสัปดาห์ก่อน โดยรวมเคลื่อนตัวในกรอบ 2,890 – 2,930 ดอลลาร์ นอกเหนือจากประเด็นสงครามการค้าที่ส่งผลต่อราคาทองแล้ว สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังเป็นตัวชี้ชะตาแนวโน้มในสัปดาห์นี้ แต่อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่ดูมีท่าทีผ่อนปรน และเริ่มมีข่าวการตั้งโต๊ะเจรจากันอีกครั้งนั้น สะท้อนว่าสงครามนี้อาจมีโอกาสยุติลง ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อราคาทองโลก
จึงแนะนำแบ่งขายทำกำไรที่ระดับ 2,925 ดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่าทองไทยประมาณ 46,700 บาท และรอดูสถานการณ์ หากการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนบรรลุผลจริง ราคาอาจย่อตัวลงอีกครั้ง ซึ่งมีแนวรับที่น่าเสี่ยงเข้าซื้อสะสมอยู่ที่ระดับ 2,855 ดอลลาร์ และ 2,830 ดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบเป็นทองไทยจะอยู่ที่ระดับราคา 45,750 บาท และ 45,500 บาท ตามลำดับ