สงครามการค้า และความไม่แน่นอนจากทรัมป์: ตัวเร่งราคาทองคำในปี 2025
Gold Bullish
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สงครามอิสราเอล-ฮามาส
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
- ความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น
Gold Bearish
- สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจผ่อนคลายลง
สงครามการค้า และความไม่แน่นอนจากทรัมป์: ตัวเร่งราคาทองคำในปี 2025
สัปดาห์ก่อนราคาทองคำโลกและราคาทองคำแท่งยังคงเดินหน้าทำ All-time high อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จาก 2.5% เป็น 25% โดยมีผลในวันที่ 2 เม.ย. และกำหนดขึ้นภาษีชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มเติมในวันที่ 3 เม.ย. ส่งผลสะเทือนไปยังห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์รายสำคัญ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี ซึ่งต่างก็มีความเชื่อมโยงแน่นแฟ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ
เม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ และมีห่วงโซ่อุปทานร่วมกันอย่างลึกซึ้ง การขึ้นภาษีดังกล่าวจึงทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและลดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่แคนาดาซึ่งเป็นคู่ค้าภายใต้ข้อตกลง USMCA อาจเผชิญแรงกดดันด้านกฎหมายและเศรษฐกิจ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี ล้วนแต่มีแบรนด์รถยนต์ที่แข็งแกร่งและพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งอาจต้องเผชิญยอดขายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเตือนว่า ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดย S&P Global Mobility คาดว่ายอดจัดส่งในสหรัฐฯ อาจลดลงถึง 1 ล้านคัน และเนื่องจากรถยนต์ปี 2025 ยังมีชิ้นส่วนอย่างน้อย 20% ที่นำเข้าจากนอกภูมิภาค ทำให้ผู้ผลิตในประเทศอย่าง GM, Ford และ Stellantis ก็จะเผชิญแรงกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่รถยนต์ที่ขายในประเทศแต่ผลิตจากต่างประเทศในสัดส่วนถึง 55% ของยอดขาย
ในอีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ยังมีแผนใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) กับ 15 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงสุด ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 10 โดยมีมูลค่าการเกินดุลต่อสหรัฐฯ สูงถึง 45,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 ประเทศไทยมีการเกินดุลในหลายหมวดหมู่ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยางล้อ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งอาจกลายเป็นเป้าหมายของการเก็บภาษีเพิ่มเติม
ขณะที่ประเทศอย่างจีน เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ล้วนแต่ติดอันดับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมาก และเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีชั้นสูง ความเสี่ยงจากภาษีและมาตรการควบคุมการส่งออกชิป AI อาจกระทบห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนในระดับภูมิภาคอย่างรุนแรง
ในภาพรวม ความตึงเครียดด้านการค้าในระดับโลก ส่งผลโดยตรงต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแรงหนุนสำคัญต่อราคาทองคำ นักลงทุนมองว่าทองคำยังเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่นโยบายของทรัมป์เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับต้นสัปดาห์ที่ทรัมป์เคยส่งสัญญาณว่าจะยืดหยุ่นเรื่องภาษีนำเข้า แต่กลับลงนามเพิ่มภาษีในช่วงกลางสัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ ยังเผชิญกับปัญหาการขาดดุลการค้าจำนวนมาก โดยในปี 2024 มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 3.27 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ส่งออกเพียง 2.06 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ขาดดุลมากกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สถานการณ์นี้ สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก
นอกจากนี้ สำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (CBO) คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นแตะ 107% ของ GDP ในปี 2029 และอาจแตะ 156% ภายในปี 2055 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ผันผวน เมื่อรวมทุกปัจจัย ความไม่แน่นอนด้านการค้า ความเสี่ยงด้านภาษี นโยบายเศรษฐกิจที่แปรผัน และหนี้สาธารณะที่อาจพุ่งขึ้น ล้วนเป็นแรงสนับสนุนต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ซึ่งมีแนวโน้มได้รับแรงซื้อในฐานะ “สินทรัพย์ปลอดภัย” อย่างต่อเนื่องในปี 2025 นี้
ราคาทองคำเคลื่อนไหวตาม Sentiment ตลาด ท่ามกลางความกังวลสงครามการค้าระลอกใหม่
ราคาทองคำยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจาก Sentiment เชิงลบของตลาดทั่วโลก หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีแนวโน้มประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลต่อความรุนแรงของสงครามการค้า
ด้านเทคนิค ราคาทองคำมีแนวรับสำคัญที่ระดับ 3,060 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไปที่บริเวณ 3,030 ดอลลาร์ ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 3,100 และ 3,120 ดอลลาร์ตามลำดับ หากทะลุผ่านมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ต่อเช่นกัน โดยมีแนวรับที่ระดับ 49,200 บาท และแนวรับถัดไปที่ 49,000 บาท ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 49,800 และ 50,000 บาทตามลำดับ