สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 1.99% แตะที่ระดับ 100.866
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.58 เยน จากระดับ 147.45 เยนในวันพูธ (9 เม.ย.), อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8242 ฟรังก์ จากระดับ 0.8549 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3986 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4116 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1215 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0964 ดอลลาร์ในวันพุธ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2982 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2803 ดอลลาร์
นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงจีนนั้น รัฐบาลจีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเพิ่มการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 84% จากเดิม 34%
ทางด้านทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ล่าสุดว่า ปธน.ทรัมป์ประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสู่ระดับ 125% ในวันพุธ (9 เม.ย.) แต่อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่รวมกับที่ปธน.ทรัมป์เรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% เพื่อลงโทษจีนที่ไม่ได้สกัดการไหลทะลักของยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ขณะนี้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145%
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 2.8% ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวลงจากระดับ 3.1% ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.0%
หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าว นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย. และมีความเป็นไปได้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1% ภายในสิ้นปีนี้
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์