ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (22 ส.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และจากการที่นักลงทุนเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง ก่อนที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,712.78 จุด ลดลง 177.71 จุด หรือ -0.43%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,570.64 จุด ลดลง 50.21 จุด หรือ -0.89% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,619.35 จุด ลดลง 299.63 จุด หรือ -1.67%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.8% ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อตลาด เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาตราสารหนี้ทั่วโลกรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐด้วยนั้น จะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มขึ้น และทำให้บริษัทต่าง ๆ มีต้นทุนการชำระหนี้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุนและลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
สก็อต แลดเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุนจากบริษัท Horizon Investments ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา แสดงความเห็นว่า “นักลงทุนพยายามปรับโพสิชันการลงทุนก่อนที่บริษัทอินวิเดีย (Nvidia) จะเปิดเผยผลประกอบการในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันนักลงทุนได้เทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง ก่อนที่นายพาวเวลจะกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮลในวันนี้ (23 ส.ค.)”
แลดเนอร์คาดการณ์ว่า “ในการประชุมแจ็กสัน โฮลครั้งนี้ นายพาวเวลจะให้ความมั่นใจกับตลาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. โดยเขาจะตอบคำถามอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% หรือ 0.50% แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เขาอาจพยายามชี้นำตลาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% โดยให้เหตุผลว่าเขาต้องการเริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างช้า ๆ และจะเน้นย้ำว่าหากเฟดเห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐชะลอตัวลงอีก เฟดก็อาจจะเร่งความเร็วในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย”
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ได้ปรับลดการประเมินตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วง 12 เดือน (เม.ย. 2566 – มี.ค. 2567) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นับเป็นหลักฐานยืนยันว่าตลาดแรงงานสหรัฐไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้และกำลังชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งช่วยให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย.
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นทะลุระดับ 18 จุดในระหว่างวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะปิดตลาดลดลงสู่ระดับ 17.56 จุด
หุ้น 8 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ร่วงลง 2.13% และ 1.87% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้น 0.56% และ 0.48% ตามลำดับ
หุ้น 7 บริษัทเทคโนโลยีที่มีมาร์เก็ตแคปสูง หรือกลุ่ม “Magnificent Seven” ร่วงลง และเป็นปัจจัยฉุดดัชนี Nasdaq ดิ่งลงเกือบ 300 จุด
หุ้นซูม วิดีโอ คอมมูนิเคชันส์ (Zoom Video Communications) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทะยานขึ้น 13% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้สูงกว่าคาดในไตรมาส 2/2567
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์