บลูมเบิร์ก (Bloomberg) และรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐลงนามในประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 25% ซึ่งเป็นการขยายสงครามการค้าที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดงานผลิตมายังสหรัฐมากขึ้น และปูทางไปสู่การเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนหรือต่างตอบโต้ที่ครอบคลุมในวงกว้างมากขึ้นในสัปดาห์หน้า
“สิ่งที่เราจะทำคือเรียกเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐ เราจะเรียกเก็บภาษีจากประเทศต่างๆ ที่ทำธุรกิจในประเทศของเราและยึดงานของเรา ยึดทรัพย์ของเรา และยึดสิ่งของต่างๆ มากมายที่พวกเขายึดมาหลายปีกลับคืนมา” ทรัมป์กล่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อ 26 มีนาคม เวลาท้องถิ่น
ภาษีรถยนต์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน และสหรัฐจะเริ่มเรียกเก็บภาษีในวันถัดไป หรือ เที่ยงคืนของวันที่ 3 เมษายน เวลาท้องถิ่นและภาษีจะใช้ไม่เฉพาะกับรถยนต์ที่ประกอบเสร็จสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์สำคัญๆ เช่น เครื่องยนต์ เกียร์ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง และส่วนประกอบไฟฟ้า รายการดังกล่าวอาจขยายออกไปในอนาคตเพื่อรวมชิ้นส่วนเพิ่มเติมอีก
ทรัมป์ระบุว่าภาษีศุลกากรดังกล่าวเป็นการถาวรและไม่สนใจที่จะเจรจาข้อยกเว้นใดๆและใน ขณะที่ทรัมป์กล่าวอยู่นี้ หุ้นของเจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) , ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) และสเตลแลนทิส (Stellantis) ร่วงลงในการซื้อขายหลังปิดตลาด
วิลล์ ชาร์ฟ เลขาธิการคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวกล่าวว่าภาษีนำเข้าดังกล่าวจะรวมอยู่ในภาษีที่บังคับใช้แล้ว และฝ่ายบริหารคาดว่าภาษีนำเข้าดังกล่าวจะส่งผลให้สหรัฐมีรายได้ใหม่ต่อปี 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท)
การประกาศของทรัมป์ได้รับการตอบรับที่ดีจากสหภาพแรงงานรถยนต์แห่งสหรัฐ (United Auto Workers) ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา (USMCA) มาอย่างยาวนาน ซึ่งระบุว่าทำให้คนอเมริกันตกงาน
นอกจากนี้ ตามเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของทำเนียบขาวระบุว่า ยกเว้นชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นไปตามข้อตกลงข้อตกลงการค้าเสรี USMCA ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่เจรจาสมัยทรัมป์ดำรงตำแหน่งวาระแรก โดยจะได้รับโอกาสในการรับรองว่า กระบวนการการผลิตรถที่สำคัญและระบบของตนในสหรัฐจะถูกนำไปปฏิบัติก็จะได้รับการยกเว้นภาษี 25 %
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นนก่อนที่จะมีการประกาศเก็บภาษีที่เรียกว่าภาษีต่างตอบแทนหรือต่างตอบโต้ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดอุปสรรคทางการค้าจากประเทศอื่นๆ และลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ โดยทรัมป์ระบุว่าภาษีดังกล่าวจะได้รับการผ่อนปรนอย่างมาก ซึ่งระบุว่า บางประเทศอาจได้รับการยกเว้น
สำหรับภาษีรถยนต์ถือเป็นการขยายขอบเขตต่อสู้ทางการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างมาก และมีแนวโน้มว่าแบรนด์รถยนต์รายใหญ่บางแบรนด์ในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย รวมถึงการดำเนินการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งพึ่งพาเครือข่ายที่บูรณาการกันอย่างสูงในสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
ภาพ : Shipvehicles